สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 25 – 30 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง กงหรา เขาชัยสน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน และป่าบอน)
จังหวัดสงขลา (อำเภอเมืองสงขลา กระแสสินธุ์ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ ควนเนียง หาดใหญ่ เทพา นาทวี นาหม่อม บางกล่ำ รัตภูมิ และสะบ้าย้อย)
จังหวัดปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก)
จังหวัดยะลา (อำเภอเมืองยะลา และรามัน)
จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช
และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2. ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที